สวัสดีครับผมได้เคยเกริ่นคร่าวๆไปแล้วเกี่ยวกับ อาการตึกป่วย Sick Building Syndrome หรือ “SBS” ในบทความ “ความชื้นในผนัง…สิ่งที่ต้องระวัง (ตอนที่ 2)” ซึ่งในปัจจุบัน นับเป็นสาเหตุใหญ่ของการเกิดโรคร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้อาศัยในอาคารทั่วโลก เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือ แม้กระทั่งโรคมะเร็งในทางเดินหายใจ… ในบทความนี้ผมจึงนำข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมมาบอกกล่าวสำหรับท่านที่รู้จัก SBS ให้ลึกกว่านี้ …มาเริ่มกันเลยครับ
อากาคตึกป่วย หรือ Sick Building Syndrome (SBS) คือเหตุการณ์ที่ผู้อยู่อาศัยในอาคารนั้นเริ่มประสบปัญหาเหล่านี้
• ลักษณะอาการเหมือนจะป่วยโดยไม่สามารถหาสาเหตุได้ โดยเกิดขึ้นขณะอยู่อาศัยในอาคารดังกล่าว
• อาการป่วยจะหายไปเมื่อออกจากอาคาร แต่ในกรณีที่อาคารดังกล่าวมีปัญหา SBS มาเป็นเวลานาน อาการป่วยดังกล่าวอาจจะรุนแรงและยาวนานขึ้นถึงแม้จะออกจากอาคารดังกล่าวแล้ว
• อาการ SBS มีสาเหตุหลักมากจาก 2 ประการ คือ การออกแบบอาคารที่ไม่ได้ระวังเรื่องความชื้น และ การใช้งานอาคารในปัจจุบันที่ทำให้เกิดความชื้นสะสมตลอดเวลา
สิ่งบอกเหตุของอาการ SBS:
• ผู้อยู่อาศัยในอาคารดังกล่าวเริ่มอาการทางกายภาพ ในระดับความรุนแรงต่างๆ เช่น ไม่สบายตัว ปวดหัว คันตา/คันจมูก ระคายเคืองคอ อาการไอแห้ง ระคายเคืองผิว วิงเวียงศรีษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน จนระดับรุนแรงถึงขั้น หายใจเริ่มติดขัด
• อาการทางกายภาพข้างต้น จะหายไปเมื่อผู้อยู่อาศัย ออกนอกบริเวณของอาคาร นั้น
• ในผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ผู้ที่กำลังรักษาโรคมะเร็งหรือปลูกถ่ายกระดูก จะมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากร่างกายจะตอบสนองต่อสิ่งปนเปื้อนในอากาศมากกว่าปกติ
• ในส่วนของโครงสร้างอาคาร อาจพบเห็น ผนังหรือฝ้ามีความชื้น
• เฟอร์นิเจอร์ไม้ พรม อาจมีรอยเชื้อราปรากกให้เห็น
• อากาศภายในเริ่มส่งกลิ่นอับ เหม็น
สาเหตุหลักของการเกิดอาการ SBS:
• ระบบการถ่ายเทอากาศที่ไม่เพียงพอ
• สารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศ ที่เกิดจากใช้งานภายในอาคาร เช่น การทำความสะอาด การสูบบุหรี่ การประกอบอาหารด้วยแก็สหุงต้ม
• สารเคมีปนเปื้อนมาจากอากาศภายนอกอาคาร
• สิ่งปนเปื้อนในรูปแบบสารอินทรีย์ เช่น เชื้อโรคที่ติดต่อทางอากาศ สปอร์เชื้อรา
• การรั่วซึมของน้ำทั้งภายในอาคาร และ การรั่วซึมของน้ำฝนจากผนังด้านนอกอาคาร
ระบบการถ่ายเทอากาศภายในอาคารไม่เพียงพอ:
ตามประสบการณ์ที่ผมดูแลลูกค้ามานับหลายปี นี้เป็นสาเหตุอันดับต้นของ SBS หรืออาจจะพูดว่า 60%-70% ก็ว่าได้ครับ.. สาเหตุใหญ่มาจากระบบ HVAC (ระบบเครื่องปรับอากาศกลางของอาคาร) ที่ไม่สามารถกระจายอากาศไปทั่วถึวทั้งอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บางครั้งเกิดอาคารที่เราเรียกว่า “ลมค้างท่อ” (ถ้าเกิดในระบบท่อส่งอากาศ [Air Duct]) หรือ “จุดอับลม” (ถ้าเกิดในพื้นที่อาศัย [Occupied Space])
อีกเหตุการณ์ที่ผมประสบพบพาบ่อยๆในการแก้ปัญหาให้ลูกค้าเจ้าของอาคารสูงหลายราย คือ ระบบ HVAC ถูกออกแบบตามตำราเป๊ะ แต่ไม่ได้เผื่อการเปลี่ยนแปลงจากการใช้งานอาคาร ซึ่งตรงนี้ก็ไปโทษวิศวกรท่านไม่ได้หรอกครับ (เพราะผมก็เป็นวิศวกร..อิอิ) เพราะส่วนใหญ่เจ้าของหรือผู้ใช้งานมักไม่แจ้งล่วงหน้าว่าจะไปดัดแปลงพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารอย่างไรบ้างในอนาคต ซึ่งตรงนี้ท่านวิศวกรทั้งหลายก็ไม่อาจทราบได้และไม่ได้คิดคำนวณเผื่อไว้… ที่ผมเจอบ่อยมากคือ ดันไปแปลงเป็น ห้องเก็บสินค้าบ้าง (storage) หรือ มีการกั้นห้องใหม่ แต่ใช้ระบบแอร์เดิม เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้ประสิทธิภาพของ Air Flow ลดลงทั้งสิ้น… เฉพาะเรื่อง HVAC นี้ผมสามารถเล่าให้ฟังได้ทั้งวันครับ เพราะเจอมาหลายรูปแบบมาก
สารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศ:
ถ้าผมจะบอกว่า การอาศัยในตึกป่วยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจสูงกว่าเดินบนท้องถนนมากถึง 3 เท่า ท่านอาจจะคิดว่าผมพูดเกินจริง…อันนี้ไม่เหมือนดูสารคดีลี้ลับที่จะบอกว่า “แล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคล” เพราะมันคือความเป็นจริง โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทยเองและรวมถึงประเทศชั้นนำทั่วโลกทำการศึกษาเก็บข้อมูลมาแล้ว โดยสรุปว่าอากาศภายในอาคารมีคุณภาพแย่กว่าอากาศภายในอาคาร 2-5 เท่าตัวเลยทีเดียว
สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีและไอระเหยในอากาศ ภายในอาคารอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราเองก็คาดไม่ถึงว่ามันจะเยอะขนาดนี้.. ผมขอยกตัวอย่างแบบย่อๆ ดังนี้ คือ กาวติดพรมหรือผนัง สารไอระเหยจากพรม สารไอระเหยจากเฟอร์นิเจอร์ Built-in ในสำนักงานโดยเฉพาะห้องผู้บริหารทั้งหลายมี Built-in กันถ้วนหน้า เครื่องถ่ายเอกสาร น้ำยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด หรือแม้กระทั้ง คาร์บอนมอนน็อกไซด์ หรือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น… ยังมีอีกเยอะครับที่ไม่เอ่ยถึง เพราะกลัวท่านจะเกลียดผมซะก่อน!.. เอาเป็นว่า มันเยอะมากจริงๆครับ ถ้าท่านมีโอกาสหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต จะพบความจริงเหล่านี้
ลืมบอกไปอีกเรื่องครับ.. ไม่ใช่ว่าอากาศเสียจากภายนอกอากาศจะถูกแยกอิสระออกไปครับ เพราะในความเป็นจริง อากาศเสียเหล่านั้นก้อไหลเข้ามาเพื่อสมทบกับอากาศเสียภายในอาคารเพิ่มเติมอีกด้วย.. สรุปว่าเราได้ 2 เด้งเลยครับ
สิ่งแปลกปลอมแบบสารอินทรีย์:
หัวข้อที่แล้วเป็นสิ่งแปลกปลอมประเภทสารอนินทรีย์ แต่ อันนี้เป็นประเภทสารอินทรีย์ คือพวกไหนบ้าง..จำง่ายๆครับ คืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับกับเชื้อโรคทั้งหลาย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส สปอร์เชื้อรา… เหล่านี้จะเติบโตได้ดีในท่อส่งอากาศที่มีปัญหาเครื่องความชื้นสะสมภายใน หรือ บางทีไปขึ้นที่ถาดรองน้ำแอร์ครับ อันนี้ผมเจอบ่อยครั้ง! อีกหนึ่งสาเหตุที่เจอบ่อยเช่นกันคือ อุจระนก หรือ อุจระแมลง ที่เข้าไปปล่อยไว้ตามตะแกรงช่องลมเข้าของอาคาร อันนี้ทั้งสกปรก ทั้งส่งกลิ่นเหม็น และ ปล่อยเชื้อโรคแบบตรงๆกันเลยทีเดียว ซึ่งมักจะพบบ่อยในห้อง AHU หรือ Cooling Tower ของอาคาร
เล่ากันฟังแบบพอสังเขป เพื่อให้ท่านได้เห็นถึงสาเหตุหลักของอาการ SBS อย่างน้อยเพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับ เจ้าของอาคารที่เริ่มจะเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และพร้อมจะเริ่มการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลายนะครับ.. หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านไม่มากก็น้อยนะครับ..โชคดีครับทุกท่าน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า
เกี่ยวกับ DeepCleanExpert.com:
เราคือผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อาคาร (Building Science) มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาตามหลักทฤษฎีวิศวกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวกับการถ่ายเทอากาศ การสะสมของความชื้น ต้นเหตุการเกิดเชื้อราและกลิ่นเหม็นอับ ทั้งสำหรับอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม และบ้านพักอาศัย… หากท่านมีปัญหาใดที่กล่าวมาแล้ว โทรขอคำปรึกษาเราได้ที่ 02-511-4742, 080-561-4499